โครงการจิตวิทยาฟื้นฟูชีวิตใหม่

เพื่อเพื่อนร่วมชาติผู้ประสบภัยธรณีพิบัติ

ณ ศูนย์บ้านบางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

โดยคณะจิตวิทยา  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

หลักการและเหตุผล

            ความเศร้าโศกสะเทือนใจใหญ่หลวง อันเกิดจากภัยพิบัติธรรมชาติอย่างรุนแรง นอกจากจะทำร้ายและทำลายสภาวะกายภาพหลากหลายแล้ว ยังทำร้ายและในหลายๆ กรณีถึงกับทำลายสภาวะจิตใจของมนุษย์ การรักษาประคองจิตใจให้มั่นคง เพื่อจะนำพาชีวิตให้ผ่านพ้นวันเวลาอันมืดมน เป็นกิจที่สำคัญที่สุดแก่ผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากพิบัติภัยนั้น หากจิตใจได้รับการรักษาให้ฟื้นตัวเองจากความวิปโยคโศกศัลย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว การดำเนินชีวิตเพื่อสร้างสรรค์สภาพกายภาพอันหมายถึง บ้านช่องตึกรามที่อยู่อาศัย ตลอดจนการประกอบอาชีพการงานก็จะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น และงอกงามขึ้นตามลำดับ หากจิตใจอยู่ในสภาพอ่อนแอการกระทำใดใดก็ตามที่จะมุ่งให้เกิดความงอกงามทางด้านกายภาพก็เป็นอันสิ้นหวัง คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยากมีส่วนร่วมในการขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากแสนสาหัสที่เกิดขึ้นแก่เพื่อนร่วมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติจิตใจ ซึ่งคณะจิตวิทยาให้ความสนใจโดยตรงเสมอมา จึงดำริในโครงการดังกล่าวขึ้นมา เพื่อช่วยอุปถัมภ์เพื่อนร่วมชาติให้ฟื้นจากความวิปโยคโศกตรมให้มีกำลังสร้างสรรค์ชีวิตที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง และสังคมอย่างเต็มกำลัง

 

วัตถุประสงค์

(1)   เพื่อสนับสนุนฟื้นฟูจิตใจของผู้ประสบภัยให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมั่นคง

(2)   เพื่อให้กำลังใจแก่เพื่อนร่วมชาติฝ่าวิกฤตใหญ่หลวงในชีวิต

(3)   เพื่อดำรงปณิธานของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในอันที่จะบริการเอื้อเฟื้อสังคม

 

การดำเนินงาน

(1)  บริการการสนับสนุนฟื้นฟูจิตใจของกระบวนการทางด้านจิตวิทยา (Psychology Support Through Psychological Counseling Process) ซึ่งอาจดำเนินการได้ในหลายรูปแบบ เช่น การบริการกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยา (Counseling Group) การบริการการปรึกษารายบุคคล (Individual Counseling) การสร้างชุมชนแห่งการสนับสนุนทางจิตใจ (Counseling Psychological Support Group) การสร้างเครือข่ายเพื่อนเอื้อเฟื้อเพื่อน (Pear Helping Network) ฯลฯ (รับผิดชอบโดยกลุ่มนักจิตวิทยาการปรึกษา)

(2)   บริการการส่งเสริมการพัฒนาการในเด็กและเยาวชน (Developmental Psychology Program) (รับผิดชอบโดยกลุ่มนักจิตวิทยาพัฒนาการ)

 

ศูนย์ปฏิบัติงาน  (อาจมีการเปลี่ยนแปลง)

            .บางม่วง  .ตะกั่วป่า  .พังงา

 

กลุ่มเป้าหมาย

            ผู้ประสบการสูญเสียในภัยธรณีพิบัติ ในวันที่  26  ธันวาคม  2547

 

ช่วงดำเนินการ

            1  ปี  (นับแต่โครงการได้รับการอนุมัติช่วยเหลือ)

 

ผู้ดำเนินการ

(1)   คณาจารย์คณะจิตวิทยา  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(2)   นิสิตปัจจุบันและมหาบัณฑิตนิสิตเก่า  ประมาณ  100 คน

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

(1)   การฟื้นฟูและเสริมสร้างสุขภาวะทางใจอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้ประสบภัย

(2)   เข้าใจและเรียนรู้ประสบการณ์ในการเผชิญและจัดการกับภัยพิบัติ

 

ผู้รับผิดชอบโครงการ

            คณะจิตวิทยา  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย